2565 08 04c 001
        วันพฤหัสบดีที่ 4 สิงหาคม 2565 เวลา 14.00น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จแทนพระองค์ไปทรงเปิดงาน “โครงการหลวง 53”  โดยมีนายจรัลธาดา  กรรณสูต องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง กราบทูลรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน, พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เข้าเฝ้าถวายสูจิบัตรงาน “โครงการหลวง 53” ผู้บริหารมูลนิธิโครงการหลวง ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้บริหารศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์เฝ้ารับเสด็จ โดยนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ มอบหมายให้นายพงษ์พันธ์ ธรรมมา รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ พร้อมด้วยนายธีรวิทย์ ขาวบุบผา ผู้อำนวยการกองงานพระราชดำริและกิจกรรมพิเศษ เฝ้ารับเสด็จ ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร
          ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี ทรงตัดแถบแพรเปิดงาน “โครงการหลวง 53” และทอดพระเนตรนิทรรศการ ผลิตภัณฑ์โครงการหัตถกรรมโครงการหลวงและโครงการบุหงาโครงการหลวง ทอดพระเนตรร้านจำหน่ายผลผลิต ผัก ผลไม้สด และผลิตภัณฑ์ของมูลนิธิโครงการหลวง ทอดพระเนตรร้านโครงการส่วนพระองค์ และผลิตภัณฑ์ของบริษัทดอยคำฯ และร้านจำหน่ายไอศกรีมอะโวคาโด จากนั้นได้ทรงฉายพระรูปร่วมกับผู้บริหารมูลนิธิโครงการหลวง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และทรงเสด็จฯ ประทับรถยนต์พระที่นั่งเพื่อเสด็จกลับ
          ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ โดยกองงานพระราชดำริและกิจกรรมพิเศษ ได้ร่วมออกร้านการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์แปรรูปสาธิต จำนวน 3 รายการ ประกอบด้วย ไส้กรอกแฟรงค์เฟอร์เตอร์ (Frankfurter sausage) ขนาด 250 กรัม หมูแดดเดียว (Pork jerky) ขนาด 500 กรัม และ พอร์คชอพ (Porkchop) ขนาดตามน้ำหนัก ซึ่งผลิตโดย ศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์เชียงใหม่ กองผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์อีกด้วย
          โครงการหลวงได้เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2512 โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโครงการหลวงขึ้น เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขา ลดการปลูกฝิ่น และฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำลำธาร ต่อมา พ.ศ. 2535 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดตั้งเป็น “มูลนิธิโครงการหลวง” เพื่อเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ที่ถาวร ในการดำเนินการต่อเนื่องจากโครงการหลวง โดยมีพระราชประสงค์เพื่อช่วยเหลือราษฎรชาวไทยภูเขา  ในท้องถิ่นทุรกันดารยากจน โดยให้ปรับเปลี่ยนจากการดำรงชีวิตด้วยการทำไร่เลื่อนลอย มาปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้ทดแทนฝิ่น และอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยมีกิจกรรมหลักที่สำคัญ ประกอบด้วย งานวิจัย งานพัฒนา ภายใต้เป้าหมายพระราชทานสำหรับใช้ในการดำเนินงาน ดังนี้ 1) ช่วยชาวเขาเพื่อมนุษยธรรม 2) ช่วยชาวไทยโดยลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ คือ ป่าไม้ และต้นน้ำลำธาร 3) กำจัดการปลูกฝิ่น 4) รักษาดิน และใช้พื้นที่ให้ถูกต้อง คือ ให้ป่าอยู่ในส่วนที่เป็นป่า และทำไร่ ทำสวนในส่วนที่ควรเพาะปลูก อย่าให้สองส่วนนี้ลุกล้ำซึ่งกันและกัน สำหรับวัตถุประสงค์และแนวทางการดำเนินงานด้านปศุสัตว์ ได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ ตลอดจนปรับปรุงและขยายพันธุ์สัตว์ที่มีในพื้นที่ให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น เพื่อการบริโภคในครัวเรือนเพียงพอ เกิดธนาคารอาหารในชุมชน เกิดการสร้างอาชีพที่มั่นคง ยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
2565_08_04c_001.jpg 2565_08_04c_002.jpg 2565_08_04c_003.jpg

2565_08_04c_004.jpg 2565_08_04c_005.jpg 2565_08_04c_006.jpg

2565_08_04c_007.jpg 2565_08_04c_008.jpg 2565_08_04c_009.jpg

2565_08_04c_010.jpg 2565_08_04c_011.jpg 2565_08_04c_012.jpg

2565_08_04c_013.jpg 2565_08_04c_014.jpg 2565_08_04c_015.jpg

2565_08_04c_016.jpg
ภาพ กิตติพรรณ จินดามัง / ข่าว วรรณกร ชัยรัตน์ / กลุ่มเผยแพร่ / สลก.