วันพฤหัสบดีที่ 23 มีนาคม 2566 นายสัตวแพทย์ประภาส ภิญโญชีพ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ประธานในพิธีเปิดโครงการสัมมนาเรื่อง การเชื่อมโยงเครือข่ายกโคเนื้อ เพื่อการพัฒนาให้เกิดความเข้มแข็ง โดยมีนายวิวัฒน์ ไชยชะอุ่ม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ นายสัตวแพทย์วัชรพล โชติยะปุตตะ ผู้เชี่ยวชาญด้านการปศุสัตว์ต่างประเทศ กองความร่วมมือด้านการปศุสัตว์ระหว่างประเทศ นายสัตวแพทย์บุญญกฤช ปิ่นประสงค์ ปศุสัตว์เขต 3 นายพศวีร์ สมใจ ปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา เข้าร่วมฯ ณ โรงแรมฟอร์จูน โคราช จังหวัดนครราชสีมา ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทักษะ และประสบการณ์ในด้านโคเนื้ออย่างครบวงจร เชื่องโยงเครือข่าย เพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงโคเนื้อ เพิ่มปริมาณโคเนื้อ ผลิตลูกโคเนื้อให้ตรงกับความต้องการของตลาด และมีช่องทางการจำหน่ายโคเนื้อไปยังตลาดภายในและตลาดต่างประเทศ มาใช้ในการพัฒนาการผลิตของตนเอง ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเพียงพอต่อการดำรงชีพ สามารถประกอบอาชีพการเลี้ยงโคเนื้อได้อย่างยั่งยืนต่อไป
นายสัตวแพทย์ประภาส ภิญโญชีพ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์เล็งเห็นความสำคัญของการเลี้ยงโคเนื้อในประเทศไทย ผู้เลี้ยงส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย โดยมีการเลี้ยงในหลายพื้นที่เนื่องจากสามารถเลี้ยงได้ทุกภูมิภาคของประเทศ ข้อมูลจากการสำรวจของกรมปศุสัตว์ ณ เดือนมกราคม 2566 ประเทศไทยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ จำนวน 1,396,257 ราย จำนวนโคเนื้อ 9,356,393 ตัว จากแผนปฏิบัติการด้านโคเนื้อ กรมปศุสัตว์ มีแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมโคเนื้อ ตั้งแต่โคต้นน้ำ โคกลางน้ำ และโคปลายน้ำ เพื่อเป็นการเชื่อมโยงระบบการผลิต และการบริหารจัดการด้านการตลาดโคเนื้อ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมโคเนื้อ สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร และส่งผลให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตโคเนื้อที่เพียงพอต่อการบริโภค ผู้ประกอบอบการส่งออกในภูมิภาคอาเซียน
การจัดฝึกอบรมในวันนี้มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการส่งเสริม สร้างความสามรถในด้านการผลิต และการตลาดให้กับผู้เข้าร่วมฝึกอบรมทั้งหมด 120 ราย ที่เป็นทั้งเกษตรกร และเจ้าหน้าที่จากเขตพื้นที่ปศุสัตว์ทั่วประเทศ สำหรับหลักสูตรการฝึกอบรม ดังนี้
1. การพัฒนาวิธีการเลี้ยงโคเนื้อเพื่อสร้างเป็นอุตสาหกรรมโคเนื้อไทย
2. กุญแจสู่ความสำเร็จ : สร้างมูลค่า สร้างรายได้ เนื้อโคไทย ขายได้ ขายดี
3. การดำเนินการส่งออกโคไปต่างประเทศ มาตรการการควบคุมการเคลื่อนย้ายสถานการณ์เศรษฐกิจโคเนื้อและผลิตภัณฑ์ในประเทศไทย รวมถึงการจำหน่ายไปยังต่างประเทศ
4. โอกาสและช่องทางทางการตลาดของโคเนื้อไทยไปจีน
ข่าว : จิราภรณ์ เกตุบูรณะ / กลุ่มเผยแพร่ฯ / สลก.